เรียนภาษาเยอรมันอย่างไรให้เก่ง

1. ภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันมีความคล้ายกันเพราะทั้งคู่อยู่ในกลุ่มภาษา Germanic

ผู้ที่สนใจจะเรียนภาษาเยอรมันอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่าถ้าเก่งภาษาอังกฤษก็จะเรียนภาษาเยอรมันง่ายขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษจัดอยู่ในกลุ่มภาษาเดียวกันคือกลุ่มภาษา Germanic ซึ่งเป็นสาขาย่อยในตระกูลภาษา Indo-European ปัจจุบันภาษา Germanic จะแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. West Germanic ซึ่งจะมีภาษาอังกฤษ เยอรมัน และดัทช์ (เนเธอร์แลนด์) 2. North Germanic ประกอบไปด้วยภาษาเดนิช (เดนมาร์ก) สวีดิช (สวีเดน) ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และภาษาในหมู่เกาะแฟโร 3. East Germanic มีภาษากอธ (Gothic) แวนดัล (Vandals เป็นภาษาของคน Germanic โบราณ) ภาษาเบอร์กันเดียน (Burgundians) และภาษาชนเผ่าอื่นๆ เพราะเหตุผลนี้คำในภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมันจึงมีความใกล้เคียงและคล้ายคลึงกัน ทำให้ผู้ที่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดีสามารถเดาความหมายของหลายๆ คำในภาษาเยอรมันได้อย่างง่ายๆ

2. ศึกษาธรรมเนียมประเพณีและแนวคิดของคนเยอรมัน เพื่อเข้าใจภาษามากขึ้น

ภาษากับคุณลักษณะนิสัยที่เด่นของคนแต่ละเชื้อชาติมักจะมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างมาก เนื่องจากคุณลักษณะนิสัยนั้นมักจะปรากฏและสะท้อนออกมาในแนวคิดขนบวัฒนธรรมเนียมวัฒนธรรมและภาษาของเขา การสนใจศึกษาวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมเยอรมันจึงทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจถึงหลักวิธีคิดและการกำหนดหลักไวยากรณ์ในภาษาเยอรมันได้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้เรียนอาจจะเคยได้ยินมาว่าคนเยอรมันเป็นคนที่มีความเป๊ะและความตรงไปตรงมาที่ค่อนข้างสูง การสะกดคำในภาษาเยอรมันก็เป็นเช่นนั้น คำภาษาเยอรมันแท้ๆ ที่ไม่ใช่คำที่ยืมมาจากภาษาอื่น สะกดอย่างไรก็จะออกเสียงตามนั้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณอยากอ่านออกเสียงคำในภาษาเยอรมันได้ถูกต้อง คุณควรจะฝึกออกเสียงชุดตัวอักษรภาษาเยอรมัน พร้อมกับเสียงสระคู่ เช่น eu au ch ck และอื่นๆ ให้แม่นยำ เวลาคุณจะอ่านออกเสียงหรือสะกดคำอะไร คุณก็สามารถสะกดไปตามแต่ละตัวอักษรได้เลย นอกจากนั้นคนเยอรมันเป็นชาติที่ชอบคิดอะไรเป็นระบบแบบแผน เพราะฉะนั้นหลักไวยกรณ์ของเขาก็มักจะเป็นระบบอย่างมาก เมื่อคุณเข้าใจระบบไวยากรณ์แล้ว การเรียนขั้นต่อไปก็จะไม่ยากสำหรับคุณ

3. เรียนและฝึกการใช้ภาษาเยอรมันทั้งแบบ passive และแบบ active

การที่จะเก่งภาษาอย่างแท้จริงคุณจะต้องเรียนและฝึกภาษาทั้งแบบ passive และแบบ active การรู้ภาษาแบบ passive หมายความว่าคุณสามารถฟังและอ่านภาษาเยอรมันได้เข้าใจ แต่ยังไม่ถึงขั้นสื่อสารเป็นภาษาเยอรมันได้ เพราะการที่จะเขียนและพูดเป็นภาษาเยอรมันได้นั้นจะต้องมีทักษะการใช้ภาษาแบบ active ซึ่งต้องอาศัยการเรียนและฝึกที่ยากขึ้นไปกว่าการเรียนภาษาแบบ passive อีกขั้น ปกติการเรียนภาษาใหม่จะเริ่มจากการท่องจำคำศัพท์ต่างๆ เมื่อไปพบเห็นคำศัพท์นั้นๆ ที่ไหน ก็จะเริ่มรู้ว่าที่เขียนอยู่นั้นเกี่ยวกับอะไร ขั้นต่อมาเวลาได้ยินคนพูดคำศัพท์ที่เรียนมาก็จะเริ่มฟังออกว่าเขาพูดเรื่องอะไร ทั้งสองทักษะนี้ถือว่าเป็นการเรียนแบบ passive การที่จะสามารถสื่อสารเป็นภาษาเยอรมันได้คุณจะต้องมีความรู้ในภาษาในขั้นที่สูงขึ้นไป เช่นการเรียงคำในประโยค การผันกริยาให้ถูกเพศและถูกกาล เช่น อดีต ปัจจุบัน อนาคต ทักษะที่จะเริ่มพัฒนาขึ้นในขั้นต่อมาคือการเขียน และการพูดตามลำดับ ซึ่งการพูดถือเป็นขั้นที่สูงขึ้นมาเพราะนั้นหมายถึงว่าคุณจะต้องคิดและสามารถแต่งประโยคในหัวได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

4. ท่องจำในสิ่งที่ต้องท่อง ทำความเข้าใจในสิ่งที่ต้องเข้าใจ

การเรียนภาษาใหม่ทุกภาษาจะหนีไม่พ้นส่วนที่จะต้องท่องจำ สิ่งที่ผู้เรียนภาษาทุกคนจะต้องท่องจำคือคำศัพท์และสำนวนต่างๆ ในภาษาเยอรมันอาจจะมีสิ่งที่ต้องท่องจำเพิ่มเติมคือคำนำหน้านาม หรือ article เพราะในภาษาเยอรมันคำนามทุกคำจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเพศชาย der เพศหญิง die หรือเพศกลาง das ซึ่งเวลาเรียนคำศัพท์ประเภทคำนามใหม่ๆ ก็ควรท่องจำพร้อมคำนำหน้านามไปด้วยเลย นอกจากการท่องจำคุณจะต้องทำความเข้าใจกับหน้าที่ของแต่ละคำในประโยคว่าทำหน้าที่เป็นประธาน กริยา หรือเป็นกรรมรองหรือกรรมตรง เพื่อที่จะสามารถผันคำนำหน้านามตามหน้าที่ของมันได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นการเรียนภาษาและการสามารถนำสิ่งที่เรียนไปใช้ได้อย่างสมบูรณ์จริงๆ จะต้องมีทั้งการท่องจำและการทำความเข้าใจประกอบควบคู่กันไป

5. หมั่นสร้างกำลังใจให้กับตัวเองอยู่เรื่อยๆ

เวลาเรียนภาษาใหม่ผู้เรียนมักจะมีความรู้สึกกับการเรียนภาษาที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงของการเรียน ในช่วงเริ่มต้นผู้เรียนมักจะไฟแรงและมีความตั้งใจสูง ทุกอย่างดูแปลกใหม่และน่าสนใจ แต่พอเรียนไปสักระยะหนึ่งเนื้อหาที่เรียนจะเริ่มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ผู้เรียนจะเริ่มเกิดความรู้สึกว่ามันยากประกอบกับคำศัพท์และสิ่งที่ต้องจำมันมีมากมาย ช่วงนี้ผู้เรียนหลายๆ คนอาจจะเกิดความท้อและหมดกำลังใจ จึงเป็นช่วงที่สำคัญมากที่จะต้องอาศัยความอดทนและความ'อึด' เมื่อผู้เรียนผ่านตอนนั้นไปได้ เริ่มเข้าใจและจำสิ่งที่เรียนได้มากขึ้น ก็จะเข้าสู่ช่วงต่อมาคือกำลังใจและความมั่นใจเริ่มกลับมา ทั้งนี้ผู้เรียนควรรู้ว่าตลอดระยะเวลาการเรียนภาษาใหม่ จะต้องเผชิญกับช่วงเวลาและความรู้สึกเหล่านี้เป็นระยะๆ มันจึงสำคัญมากที่จะต้องคอย motivate ตนเองและหมั่นโอกาสนำความรู้ที่เรียนมาไปใช้ในชีวิตจริง

6. เรียนและจำหลักไวยากรณ์ให้ถูกตั้งแต่ต้น

บางคนเรียนภาษาใหม่และอยากเห็นผลเร็วๆ จึงไม่ให้ความสำคัญกับหลักไวยากรณ์ เพราะคิดว่าจะค่อยมาเรียนรู้และแก้ไขในภายหลัง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถ้าจำแบบผิดๆ ไปแล้ว การที่จะมาฝึกเรียนรู้ใหม่ให้ถูกต้องในภายหลังจะเป็นเรื่องยาก ทางเราแนะนำให้คุณเรียนและพยายามใช้ภาษาเยอรมันให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ตั้งแต่เริ่มต้น ถึงแม้ว่ามันอาจจะช้าหน่อยในตอนแรก แต่เมื่อผู้เรียนจับหลักได้แล้วต่อไปก็จะเรียนรู้และเข้าใจได้เร็วขึ้น พร้อมทั้งสามารถใช้ภาษาเยอรมันได้อย่างถูกต้องในระยะยาว การที่จะเก่งภาษาได้นั้นจะต้องมีการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สมองสร้างความทรงจำระยะยาวและสามารถดึงความรู้ที่เรียนมาใช้ได้ทุกครั้งที่ต้องกร การสอนของเราจะเน้นให้ผู้เรียนทำความเข้าใจและเรียนหลักไวยากรณ์อย่างถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น และคอยฝึกฝนทบทวนกับผู้เรียนเพื่อให้มีความแม่นยำในการใช้ภาษา
เรียนภาษาเยอรมันตัวต่อตัว

เรียนภาษาเยอรมัน

หากสนใจเรียนภาษาเยอรมัน สามารถคลิ๊กดูรายละเอียดได้ด้านล่าง สอนทั้ง พูด ฟัง อ่าน เขียน สำหรับบุคคลทั่วไป ติวนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ที่ต้องการจะสอบหลักสูตรภาษาเยอรมันต่างๆ รับปรึกษาเกี่ยวกับภาษาเยอรมัน แนะแนวการเขียนรายงาน การไปศึกษาต่อในประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมัน

CONNECT WITH US